บทความโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือหัวใจอักเสบ (Myocarditis หรืออีกชื่อ คือ Inflammatory cardiomyopathy) คือ โรคที่เกิดจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อส่วนสำ คัญของหัวใจที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อการสูบฉีดโลหิต/เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายรวมทั้งของหัวใจเอง ดังนั้นเมื่อเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการสำคัญของผู้ป่วย คือ อาการหายใจลำบากจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆขาดเลือด ร่วมกับการมีหัวใจเต้นผิดปกติซึ่งบ่อย ครั้งเป็นการเต้นผิดจังหวะ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จัดเป็นโรครุนแรง เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เป็นโรคพบได้ในทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้สูงกว่าในช่วงอายุที่เป็นผู้ใหญ่วัย 40-50 ปี ผู้ หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้เท่าๆกัน ทั้งนี้สถิติเกิดโรคที่แน่นอนยังไม่ทราบเนื่องจากผู้ป่วยหลายคนอาจไม่ได้มาพบแพทย์ นอกจากนั้นการวินิจฉัยโรคให้ได้แน่นอน ต้องใช้การตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อหัวใจ (เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา) ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีสูง ยุ่งยาก มีอันตราย และต้องตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกามีราย งานพบโรคนี้ได้ประมาณ 1-10 รายต่อประชากร 100,000 คน
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดได้อย่างไร? มีสาเหตุจากอะไร?
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจเกิด
- จากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้รับบาดเจ็บเสียหายโดยตรง เช่น จากตัวเชื้อโรค หรือได้รับสารพิษต่อเซลล์หัวใจ เช่น สารโคเคน หรือ ยาเคมีบำบัดบางชนิด หรือการฉายรังสีรักษาบริเวณหัวใจ หรือจากสารภูมิต้านทานของร่างกายเองจากการเป็นส่วนหนึ่งของโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- หรืออาจเกิดจากเมื่อมีการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างเซลล์ขึ้นมาตอบสนองต่อการอักเสบนั้นๆ (เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว) ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจ และสร้างสารเคมีหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะก่อให้เกิดการอักเสบและ/หรือการทำ ลายกล้ามเนื้อหัวใจ จนก่อให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามมา หรือสารเคมีเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอัก เสบ เสียหาย และอาจเกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจได้ จึงเกิดเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขึ้น
สาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้แก่
- การติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด โดยพบจากติดเชื้อไวรัสบ่อยกว่าเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยไวรัสเกือบทุกชนิดสามารถเป็นสาเหตุได้ แต่ที่พบเป็นสาเหตุบ่อย คือ ไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่, Adenovirus, Coxsackie virus, Enterovirus, ไวรัสโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน นอกจากนั้นยังพบเกิดได้จาก ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบ ซี และไวรัสโรคชิคุนกุนยา
การติดเชื้อแบคทีเรียพบได้รองลงมา เช่น ใน โรคคอตีบ วัณโรค เชื้อสเตร็บ (Streptococcus)ในโรคไข้รูมาติค และโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา
การติดเชื้อที่พบได้น้อย คือ
- จากติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว (Protozoa) ในกลุ่มเชื้อปรสิต เช่น เชื้อโรคบิดอะมีบา (Amoe biasis)
- หรือจากการติดเชื้อราในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด (เช่น ยา Doxorubicin) ยารัก ษาตรงเป้าบางชนิด (เช่น ยา Trastuzumab) และยาต้านไวรัสบางชนิด (เช่น ยา Zidovudine)
- การแพ้ยาต่างๆ เช่น การแพ้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
- จากพิษของสัตว์บางชนิด เช่น พิษ งู ผึ้ง แมงป่อง และแมงมุม
- ฤทธิ์จากสารเสพติดบางชนิด เช่น โคเคน
- การได้รับสารพิษบางชนิด เช่น สารหนู (Arsenic) ตะกั่ว และก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ (Carbon monoxide) ในควันพิษต่างๆ เช่น ควันรถยนต์
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) และโรคข้อรูมาตอยด์
- โรคอื่นๆที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อทั่วร่างกายโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคออโตอิมมูน เช่น โรคคาวาซากิ
- อื่นๆ เช่น การได้รับรังสีรักษาบริเวณหัวใจ หรือ การปฏิเสธหัวใจใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของโรคไม่มาก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติและแพทย์มักไม่สามารถตรวจพบโรคได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล้าม เนื้อหัวใจมีพยาธิสภาพมากขึ้น อาการที่อาจพบได้ คือ
- อาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ ซึ่งมักจะเกิดนำมาก่อนหลายๆวัน หรือเป็นสัปดาห์ก่อนที่จะมีอาการทางหัวใจ ที่พบได้บ่อย คือ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ อาจมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ หรืออาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ไม่เจาะจงว่าส่วนไหนของช่องท้อง และอาจร่วมกับท้องเสีย
- อาการที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบากโดยเฉพาะเมื่อออกแรง ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหนื่อยง่ายโดยเฉพาะเมื่อออกแรง รู้สึกเป็นลม หรือ เป็นลมบ่อย ถ้าเป็นมาก อาจช็อก อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้
แพทย์วินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่า ซีบีซี (CBC) ค่าสารภูมิต้านทานโรคต่างๆที่แพทย์สงสัย (เช่น ในการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี) สารที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆรวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ (เช่น สาร C-reactive protein และสาร Troponin) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจภาพปอดและหัวใจด้วยเอกซเรย์ การตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ การตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ และในบางครั้ง ต้องใส่สายสวนหัวใจเพื่อการตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้การตรวจต่างๆจะขึ้นกับอาการผิดปกติต่างๆที่แพทย์ได้ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์
รักษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ การป้องกันและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และการรักษาประคับประคองตามอาการ
- การรักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาต้านไวรัสเมื่อสาเหตุเกิดการการติดเชื้อไวรัสชนิดที่มียาต้านไวรัส การหยุดยาและให้ยาแก้แพ้ต่างๆเมื่อสาเหตุเกิดจากการแพ้ยา เป็นต้น
- การป้องกันและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่
- จำกัดอาหารเค็ม เพื่อลดปริมาณเกลือโซเดียมในเลือดซึ่งจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงซึ่งจะเพิ่มการทำงานของหัวใจ หัวใจจึงมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย
- กินยาขับน้ำ/ขับเกลือโซเดียม
- รักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลให้เกิดโรคของหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน แป้งและน้ำตาล แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็ง แรง ลดความเครียด
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการปวด การให้ออกซิเจนเมื่อมีภาวะขาดออกซิเจน และการให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินอาหารได้น้อย เป็นต้น
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ความรุนแรงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ขึ้นกับสาเหตุ ถ้าสาเหตุไม่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพหรือการบาดเจ็บหรือการตายของกล้ามเนื้อหัวใจมาก กล่าวคือในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย มักรักษาควบคุมโรคได้สูง แต่ถ้าผู้ป่วยเริ่มมาพบแพทย์โดยมีอาการมาก โดยเฉพาะมาพบแพทย์ด้วยภา วะหัวใจล้มเหลว อัตราเสียชีวิตจะประมาณ 56% ในระยะเวลา 4 ปี
ผลข้างเคียงที่อันตรายของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะหัวใจล้มเหลว
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองที่สำคัญคือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะอาการที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ เมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์เสมอ
เมื่อทราบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การดูแลตนเองที่สำคัญ ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- ป้องกัน ควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลว เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การรักษา ที่สำคัญ ได้แก่
- จำกัดอาหารเค็ม
- รักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลให้เกิดโรคของ หลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน แป้งและน้ำตาล
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็งแรง ลดความเครียด
ป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างไร?
การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คือการป้องกันสาเหตุต่างๆ (ดังได้กล่าวแล้วในหัว ข้อ สาเหตุ) ที่ป้องกันได้ ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือการป้องกันการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน โดยจำกัดอาการเค็ม หวาน แป้ง น้ำตาล ไขมัน แต่เพิ่ม ผัก ผลไม้ให้มากๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อต่างๆตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เช่น วัคซีนโรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคอตีบ ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้น
ขอขอบคุณ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์