บทความโรคตับ
โรคตับ (Liver disease) คือ โรคที่เกิดจากตับทำงานผิดปกติ ด้อยประสิทธิภาพลง ทั้งนี้ตับเป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งต่อการดำรงชีวิต มีหน้าที่หลายประการ
- ทั้งในการสะสมน้ำตาล
- สร้างน้ำย่อยอาหาร
- สร้างฮอร์โมนช่วยสร้างเกล็ดเลือดของไขกระดูก
- สร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือด
- สันดาป/สังเคราะห์โปรตีน และไขมัน
- และที่สำคัญ คือ ทำลายและกำจัดของเสียต่างๆออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี
ดังนั้นถ้าตับทำงานได้น้อยลง หรือเกิดโรคของตับ จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น เลือดออกง่าย และมีของเสียต่างๆสะสมในร่างกาย จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เมื่อตับเสียการทำงานจนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะตับวาย

โรคตับเป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกาพบโรคตับ อยู่ในลำดับที่ 10 ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรสหรัฐอเมริกา
โรคตับพบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ภาวะตัวเหลืองที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด (ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก) หรือโรคไวรัสตับอักเสบที่พบได้ในทุกอายุ ทั้งนี้พบโรคตับเกิดในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง ซึ่งอาจเพราะเพศชายดื่มสุรามากกว่าเพศหญิง (สุราเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบ และโรคตับแข็ง) โรคตับที่พบได้บ่อย คือ โรคตับอักเสบและโรคตับแข็งที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ รองลงไปคือ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคไขมันพอกตับ โรคตับอักเสบจากสาเหตุอื่นๆนอก เหนือจากติดเชื้อไวรัสและดื่มแอลกอฮอล์ (เช่น จากผลข้างเคียงจากยา และโรคมะเร็งตับ
โรคตับมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตับ ที่สำคัญที่สุด คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองลงไปคือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้หลายชนิด ที่พบบ่อย คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี
นอกจากนั้น คือสาเหตุอื่น เช่น
- โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคไข มันพอกตับ
- การติดเชื้ออื่นๆนอกเหนือจากเชื้อไวรัส เช่น ติดเชื้อแบททีเรีย (เช่น ฝีตับ/ Amoe bic liver abscess) ติดเชื้อรา ติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น ฝีตับมีตัว (Amoebic liver abscess) และโรคพยาธิใบไม้ตับ (Liver fluke) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาบางชนิดที่ใช้รักษาวัณโรค หรือจากยาพาราเซตามอล/Paracetamol) หรือสารพิษบางชนิด (เช่น เห็ดพิษ หรือสมุนไพรบางชนิด)
- โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
- โรคมะเร็ง ทั้งชนิดที่เกิดจากเซลล์ตับเอง (โรคมะเร็งตับ) และจากโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งเต้านม แล้วแพร่กระจายตามกระแสโลหิตมาสู่ตับ
- พันธุกรรม เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก และมักพบเกิดตั้งแต่เป็นเด็ก เช่น โรค Hemo chromatosis คือ โรคที่มีธาตุเหล็กไปจับในตับมากเกินปกติจนเป็นสาเหตุให้ตับสูญเสียการทำงาน เป็นต้น
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ ได้แก่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เป็นโรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
- ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ และสารเคมีต่างๆโดยไม่รู้จักการป้องกัน
- ทำงานที่ต้องสัมผัสกับ เลือด สารคัดหลั่ง หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น (เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี)
- การกินอาหารที่ขาดสุขอนามัย (เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ เอ)
- กินยาพร่ำเพรื่อ เสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยา
- ชอบกินสมุนไพร หรือเห็ดแปลกๆ
- การส่ำส่อนทางเพศ (เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี)
- การสักตามร่างกาย หรือ เจาะร่างกายจากแหล่งบริการที่ไม่สะอาดพอ เพราะอาจเป็นสาเหตุการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
- ได้รับเลือดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบ บี หรือ ไวรัสตับอักเสบ ซี
โรคตับมีอาการอย่างไร?
อาการจากโรคตับ มีได้หลากหลายอาการ ขึ้นกับสาเหตุ แต่อาการโดยรวมที่มักคล้าย คลึงกันในทุกสาเหตุและทำให้แพทย์คิดถึงโรคของตับ ได้แก่
- เจ็บใต้ชายโครงขวา หรือเจ็บ/ปวดท้องด้านขวาตอนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ของตับ
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
- ตัว ตาเหลือง (โรคดีซ่าน)
- ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ร่วมกับอุจจาระสีซีด
- มีน้ำในท้อง หรือท้องมาน มักร่วมกับอาการบวมเท้า
- เมื่อเป็นมาก ลมหายใจอาจมีกลิ่นออกหวาน (กลิ่นของสารตกค้างในร่างกาย เช่น สารที่เรียกว่า Ketone) สับสนอารมณ์แปรปรวน มือ เท้า กระตุก และมือสั่น
แพทย์วินิจฉัยโรคตับได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคของตับได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าการทำงานหรือค่าเอนไซม์ของตับ (เช่น Alkaline phosphatase ย่อว่า AP หรือ ALP, Alanine transaminase ย่อว่า ALT , และ Aspartate aminotransferase ย่อว่า AST)
นอกจากนี้ อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย สิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิว เตอร์ หรือเอมอาร์ไอ การส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดีในตับ การฉีดสีตรวจทางเดินน้ำดีในตับ (Cholangiography) และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคตับอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคตับ คือ การรักษาสาเหตุ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ
- การรักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคตับเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย การผ่าตัดเมื่อมีเนื้องอกในตับ การเลิกสุรา หรือการหยุดยา เมื่อโรคตับเกิดจากสุรา หรือ จากยา เป็นต้น นอกจากนั้นเมื่อตับสูญเสียการทำงานจนเกิด ภาวะตับวายเรื้อรัง การรักษาคือ การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplantation)
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด หรือ ยาบรรเทาอาการคลื่น ไส้ อาเจียน ตามอาการ การทำผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำดีเมื่อมีตัว ตาเหลืองมากจากมีการอุดตันของทางเดินน้ำดีในตับ และการให้สารน้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกิน ดื่ม ได้น้อย เป็นต้น
โรคตับรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ความรุนแรงของโรคตับขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- เมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เมื่อหยุดยา เซลล์ตับมักกลับเป็นปกติ
- แต่ความรุนแรงจะสูงขึ้น เมื่อเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ไวรัสตับอักเสบ ซี
- หรือความรุนแรงจะสูงสุด เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งตับ หรือมีโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆแพร่ กระจายมาสู่ตับ
ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการมีโรคตับ คือ ภาวะตัวตาเหลือง (โรคดีซ่าน) การมีน้ำในช่องท้อง และภาวะตับวาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์เสมอ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ
แต่เมื่อเป็นโรคตับแล้ว การดูแลตนเอง คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- เลิกดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินยาเฉพาะที่แพทย์สั่ง ไม่ซื้อยากินเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากการอาเจียน
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาลในเรื่องอาหาร เพื่อการบริโภคได้อย่างเหมาะสม เพราะจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับประสิทธิภาพการทำงานของตับของผู้ป่วยแต่ละคน (อาหารในผู้ ป่วยโรคตับ)
- เคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ
มีการตรวจคัดกรองโรคตับไหม?
การตรวจคัดกรองโรคตับไม่มีการแนะนำเป็นกรณีเฉพาะ แต่จะเป็นการตรวจประจำอยู่ในการตรวจสุขภาพประจำปีโดยแพทย์ ซึ่งเป็นการสอบถามประวัติอาการทางการแพทย์ทั่วๆไป การตรวจร่างกาย การตรวจคลำตับ และการตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ซึ่งหากแพทย์พบว่า ผิดปกติ จึงจะมีการสอบถามประวัติทางการแพทย์ ร่วมกับการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับดุล พินิจของแพทย์ เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ภาพตับ เป็นต้น
ป้องกันโรคตับได้อย่างไร?
การป้องกันโรคตับสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ /ปัจจัยเสี่ยงว่า สาเหตุสำคัญของโรคตับ คือ จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดังนั้นการป้องกันที่ประสิทธิภาพที่สุด คือ
- การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือถ้าดื่มก็ต้องจำกัด เป็นครั้งคราวในปริมาณไม่มาก สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ACS,American Cancer Society) แนะนำ จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยในแต่ละวัน ผู้ชายไม่ควรดื่มเบียร์เกิน 350 มิลลิลิตร (มล.) ไวน์ไม่เกิน 150 มล. และสุรา ไม่เกิน 50 มล. ในผู้หญิงลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย เพราะมีรูปร่างและน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ชาย รวมทั้งสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (AHA,American Heart Association) ก็แนะนำการจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน
- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทุกชนิดด้วย
นอกจากนั้น ยังอาจป้องกันโรคตับได้จากการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ การไม่กินเห็ดหรือสมุนไพรต่างๆที่ไม่รู้จัก การไม่ใช้สารเสพติด การป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำ คัญ ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
ขอขอบคุณ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์